RSS

Category Archives: การถวายผ้ากฐินหรือการทอดกฐิน

การถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐิน

การถวายผ้ากฐิน

643630-topic-ix-1

            การถวายผ้ากฐินหรือการทอดกฐิน ถือเป็นการถวายทานที่มีกาลเวลา คือ เป็นการถวายทานภายหลังวันออกพรรษา คือ ในระหว่างวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) และเพื่อให้ได้ทราบถึงสาเหตุที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับกฐินและต่อมาพุทธศาสนิกชนได้ถือเป็นการบำเพ็ญบุญสืบต่อกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

           การทอดกฐินนั้น เมื่อผู้มีศรัทธาประสงค์จะนำผ้ากฐินไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งก็ตามผู้มีศรัทธานั้นจะต้องไปจองไว้กับเจ้าอาวาส หรือบอกกล่าวให้พระสงฆ์วัดนั้น ๆ ทราบล่วงหน้าก่อนว่าในปีนี้จะนำกฐินมาทอด ณ วัดนี้ เพื่อทางวัดจะได้ประกาศให้ทายกทายิกาหรือผู้มีศรัทธารายอื่น ๆ ได้ทราบว่า ในพรรษากาลนี้มีผู้จองกฐินมาทอด ณ วัดนี้แล้ว บางกรณีผู้ศรัทธาไม่ได้แจ้งให้พระสงฆ์ได้ทราบไว้ก่อนล่วงหน้า แต่ได้นำกฐินไปทอดในทันทีที่ไปถึงวัดนั้น จะเรียกว่า “กฐินจร”

การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมผ้าไตรกฐิน จำนวน ๑ ไตร (ถ้าเป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ต้องเตรียมผ้าขาว ๑ พับ ยาวประมาณ ๘-๑๐ เมตร วางบนผ้าไตรกฐินด้วย และจัดเตรียมสีย้อมผ้า (สีกลัก) หรือสีตามจีวรที่วัดนั้น ๆ ใช้)
๒) ไตรจีวร สำหรับถวายคู่สวด ๒ ไตร
๓) ของอื่น ๆ ที่พระสงฆ์ใช้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งถือเป็นบริวารกฐิน
๔) จตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์อันดับ ตามจำนวนพระสงฆ์สามเณรในวัดนั้น
๕) ปัจจัยสำหรับไว้ใช้จ่ายในการก่อสร้างหรือบำรุงถาวรวัตถุในอาราม
๖) เทียนปาติโมกข์ จำนวน ๑ ชุด (เทียนขาว จำนวน ๒๔ เล่ม)
๗) พานแว่นฟ้า สำหรับวางผ้าไตรกฐิน และพานวางเทียนปาติโมกข์
๘) ดอกไม้ ธูป เทียน สำหรับถวายพระภิกษุสามเณร

แนวทางการปฏิบัติงาน (ก่อนเข้าสู่พิธีการ)
๑) ถ้าเจ้าภาพมีความประสงค์จะให้มีการฉลององค์กฐิน จัดพิธีเช่นเดียวกับงานมงคลต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องการดำเนินงานพิธีมงคล
๒) จัดโต๊ะหมู่หรือโต๊ะผ้าไตรกฐิน และบริวารกฐินเพิ่มขึ้นอีก ๑ ที่ จากการตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย
๓) เมื่อถึงวันที่จะนำกฐินไปทอดยังวัดที่ได้จองไว้ จะให้มีการแห่แหนไปยังวัดนั้น
๔) เมื่อถึงวัดจะให้มีการนำองค์กฐินไปเวียนประทักษิณรอบอุโบสถก่อน ๓ รอบ ก็ได้หรือจะนำองค์กฐินเข้าไปยังอุโบสถโดยไม่ต้องเวียนประทักษิณก็ได้
๕) เมื่อเข้าสู่สถานที่ที่ถวายผ้ากฐินและบริวารกฐิน (โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หรือสถานที่ที่ทางวัดเห็นว่าเหมาะสม) แล้ว ให้จัดวางผ้ากฐินและบริวารกฐินให้เรียบร้อยสวยงาม

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์ลงสู่อุโบสถหรือศาลาการเปรียญ และนั่งยังอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว
๒) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพประเคนพัดรองหรือตาลปัตรที่ระลึกแด่ประธานสงฆ์
๔) เจ้าหน้าที่พิธีอาราธนาศีล
๕) ประธานสงฆ์ให้ศีล
๖) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพ และผู้ร่วมอนุโมทนาการทอดกฐินรับศีลพร้อมกัน
๗) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพหยิบผ้าห่มพระประธานมองให้ไวยาวัจกรหรหรือเจ้าหน้าที่
๘) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพหยิบผ้าไตรกฐินที่พานแว่นฟ้าขึ้นอุ้มประคองประนมมือ หันหน้าไปทางพระประธาน กล่าว “นะโม ๓ จบ”
๙) หันหน้าไปทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน
๑๐) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพวางผ้าไตรบนพานแว่นฟ้า ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ แล้วยกประเคนพระสงฆ์รูปที่ ๒ (ต้องประสานกับพระสงฆ์ เนื่องจากวัดบางวัดให้วางไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ และพระสงฆ์จะประกอบพิธีอปโลกน์กฐิน โดยประธานพิธีหรือเจ้าภาพไม่ต้องประเคนผ้าไตรกฐิน)
๑๑) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพยกเทียนปาติโมกข์ประเคนพระสงฆ์รูปที่ ๒
๑๒) พระสงฆ์ประกอบพิธีอปโลกน์กฐิน
๑๓) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพประเคนบริวารกฐิน และเครื่องไทยธรรม
๑๔) เจ้าหน้าที่ประกาศยอดเงินของกฐิน
๑๕) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพถวายยอดปัจจัยบำรุงวัดแด่ประธานสงฆ์
๑๖) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๗) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๘) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกราบพระประธาน (กราบ ๓ ครั้ง)
๑๙) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกราบลาพระสงฆ์
๒๐) เสร็จพิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ: ,