RSS

Tag Archives: งานมงคล

พิธีทำบุญวันเกิด

พิธีทำบุญวันเกิด

โซ่-คชา-ทำบุญวันเกิด-3

           เมื่อถึงดิถีคล้ายวันเกิด ควรทำบุญวันเกิด ถ้าจำวันเกิดได้เพียงทางจันทรคติ (ขึ้นหรือแรม) ควรกำหนดวันทำบุญทางจันทรคตินั้น ถ้าจำได้ทางสุริยคติ (วันที่) ก็ควรกำหนดเอาวันทางสุริยคตินั้น ถ้าจำได้ทั้งสองทางให้ถือวันทางสุริยคติเป็นสำคัญ เพราะสะดวก และใกล้เคียงความจริงกว่า พิธีนี้ทำได้ทั้งที่บ้านและที่วัด จำนวนพระในพิธีมี ๕ รูป ๗ รูป หรือ ๙ รูป แล้วแต่ความประสงค์ ของเจ้าของวันเกิด หรือเจ้าภาพบางท่านก็จะนิมนต์พระสงฆ์เกินกว่าอายุในปีที่ตนเองทำบุญจำนวน ๑ รูป
การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมสถานที่ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
๒) โต๊ะหมู่บูชาพร้อมเครื่องนมัสการ (เช่นเดียวกับพิธีมงคล)
๓) อาสนะพระสงฆ์
๔) เตรียมนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ๕ รูป ๗ รูป ๙ รูป หรือตามความประสงค์
๕) ครอบสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ หรือบาตรสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์
๖) กำหญ้าคาสำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์
๗) ด้ายสายสิญจน์ พร้อมพานรองสายสิญจน์
๘) เครื่องรับรองพระสงฆ์
๙) ภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์
๑๐) เครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม
๑๑) ที่กรวดน้ำ เชิงเทียนชนวน

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อถึงเวลาที่กำหนด เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน
๒) เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) เจ้าภาพถวายพัดรอง หรือตาลปัตรที่ระลึก (ถ้ามี)
๔) ศาสนพิธีกรอาราธนาศีล
๕) ประธานสงฆ์ให้ศีล
๖) เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีประนมมือรับศีลพร้อมกัน
๗) ศาสนพิธีกรอาราธนาพระปริตร
๘) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๙) ศาสนพิธีเชิญเจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ (เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ใกล้จะจบนโม ๘ บท และพระสงฆ์จะขึ้นบท “อเสวนา จ พาลานํ…”
๑๐) เจ้าภาพบูชาข้าวพระพุทธ
๑๑) เจ้าภาพประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์
๑๒) พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อย
๑๓) ศาสนพิธีนำเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม มาเรียงไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ทุกรูป
๑๔) เชิญเจ้าภาพถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
๑๕) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๖) เจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๗) เจ้าภาพรับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์ (ขณะประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่เจ้าภาพ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา)
๑๘) เจ้าภาพส่งพระสงฆ์
๑๙) เสร็จพิธี
๒๐) จากนั้น จะมีการปล่อยนก ปล่อยปลา หรือเต่า แล้วแต่ความประสงค์พิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 
 

ป้ายกำกับ: ,

พิธีมงคลสมรส

พิธีมงคลสมรส

ขั้นตอนงานแต่งงานแบบไทย

          เมื่อหญิงชายต่างมีฉันทะร่วมกันในอันที่จะครองเรือนแล้ว ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ของตนไปสู่ขอกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเสียชั้นหนึ่งก่อน ต่อจากนั้น จะกำหนดวันหมั้น ของหมั้นตามประเพณีนิยมเป็นแหวน ในการหมั้น ไม่ค่อยมีพิธีรีตองอะไรมากนัก ผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินการในเรื่องการหมั้น เรียกว่า เถ้าแก่ เชิญขันหมากไปถึงที่แล้ว ก็กล่าวคำเป็นที่จำเริญใจ และบอกความประสงค์ว่า มาเพื่อขอหมั้น แล้วมอบของหมั้นให้กับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง ปัจจุบันนี้ ให้ฝ่ายชายสวมแหวนหมั้นที่นิ้วนางของฝ่ายหญิงเลยทีเดียว

การเตรียมการ
๑) ขันหมาก
๒) ขันที่ ๑ บรรจุหมาก ๘ คู่ (ก้านทาด้วยชาดแดง) พลู ๘ เรียง เรียงละ ๘ ใบก้านทาด้วยชาดแดง) ใบพลูวางรอบขัน หันปลายพลูขึ้นปากขัน หมากวางไว้ตรงกลาง
๓) ขันที่ ๒ บรรจุดอกรัก ๗ ดอก ดอกบานไม่รู้โรย ๗ ดอก ดอกดาวเรือง ๗ ดอกยอดใบเงิน ยอดใบทอง อย่างละ ๓ ยอด ข้าวเปลือก ๑ ถุง ถั่วเขียว ๑ ถุง งาดำ ๑ ถุง และแหวนทองหมั้น วางบนของเหล่านี้ คลุมปากขันด้วยผ้าสีชมพูหรือผ้าแดง

แนวทางการปฏิบัติ
๑) ผู้ใหญ่ฝ่ายชาย (เฒ่าแก่) เดินออกหน้า (เวลาจัดตั้งขบวนไปหมั้น) ถัดไปเป็นผู้ที่ถือขันหมาก เจ้าบ่าว ญาติอื่น ๆ
๒) (ฝ่ายเจ้าสาว) จัดคนเชิญขันหมากและรับขันหมากไปวางไว้ในที่ที่กำหนด (คนเชิญขันหมากมักใช้เด็กหญิงอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ)
๓) ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายนั่งล้อมขันหมากคู่
๔) ผู้ใหญ่ฝ่ายชายกล่าวคำขอหมั้น
๕) ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงกล่าวตอบ
๖) ผู้ใหญ่ฝ่ายชายมอบขันหมากแก่ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง
๗) ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเปิดขันหมากและตรวจดู พร้อมกับกล่าวคำที่เป็นสิริมงคล เช่น “ทุกอย่างล้วนแต่สวยสดงดงาม ทองสุกใสหลายหลาก เงินมากมายก่ายกอง คงจะต้องอำนวยความสุขสดชื่นตลอดชั่วนิรันดรทีเดียว”
๘) ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันโปรยวัตถุมงคล (ถั่ว งา ข้าวตอก ดอกไม้) ลงบนของหมั้น
หรือพร้อมกับกล่าวคำที่เป็นสิริมงคล (หลังจากเสร็จพิธีแล้ว นำไปโปรยไว้ในสวนหรือที่เหมาะสม)
๙) ฝ่ายหญิงนำเจ้าสาวออกมาและน้อมไหว้ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจนครบทุกคน แล้วนั่งในที่ที่กำหนด
๑๐) เมื่อได้เวลาฤกษ์ ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงมอบแหวนหมั้นให้ฝ่ายชาย เพื่อสวมนิ้วฝ่ายหญิงสาวต่อไป
๑๑) ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงสาวไปกราบผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย (กราบครั้งเดียว ไม่แบมือ)
๑๒) ฝ่ายหญิงแจกของชำร่วย และเลี้ยงของว่างรับรองแขก

พิธีสงฆ์เนื่องในพิธีมงคลสมรส
๑) เครื่องใช้พิธีสงฆ์ (สำหรับใช้ในงานพิธีมงคล)
๒) ด้ายมงคลแฝด (นิมนต์พระสงฆ์ที่เคารพนับถือจับให้) ใส่พานตั้งไว้ข้างครอบทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลในขณะที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๓) โถปริก แป้งกระแจะเจิม (ใส่พานตั้งไว้ข้างครอบทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลในขณะที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์)
๔) เตรียมนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๕) เครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์
๖) ภัตตาหารคาว-หวาน สำหรับถวายพระสงฆ์
๗) หมอนกราบ ๒ ใบ (หน้าโต๊ะหมู่บูชา)

แนวทางการปฏิบัติ
๑) เมื่อถึงเวลาตามที่กำหนด และผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน
๒) เชิญเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนั่งหน้าโต๊ะหมู่บูชา (เจ้าสาวนั่งทางด้านซ้ายมือของเจ้าบ่าว)
๓) รับเทียนชนวนจากพิธีกร เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจับด้วยกัน จุดธูปเทียนจากซ้ายไปขวาของผู้จุด
๔) กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบพระรัตนตรัยที่หมอนพร้อมกัน ๓ ครั้ง
๕) หันไปทางพระสงฆ์ กราบพระสงฆ์พร้อมกัน ๓ ครั้ง
๖) พิธีกรอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล
๗) เจ้าบ่าว เจ้าสาว และผู้ร่วมพิธีรับศีลพร้อมกัน
๘) ศาสนพิธีกรอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๙) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ก่อนถึงบท “อเสวนา จ พาลานํ…” เจ้าบ่าวและเจ้าสาว
ไปนั่งคุกเข่า เบื้องหน้าประธานสงฆ์
๑๐) รับเทียนชนวนจากศาสนพิธีกร จับด้วยกัน จุดเทียนทำน้ำพระพุทธมนต์บนครอบน้ำพระพุทธมนต์
๑๑) ยกครอบสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์พร้อมกัน ประเคนประธานสงฆ์
๑๒) กลับมานั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ณ ที่เดิม
๑๓) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบทถวายพรพระ “พาหุํ สหสฺสมภินิมฺ…”
๑๔) ลุกไปตักบาตร (จับทัพพี และหยิบของใส่บาตรพร้อมกัน)
๑๕) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบ
๑๖) ประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จ
๑๗) พิธีกรนำเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมไปวางไว้เบื้องหน้าพระสงฆ์ทุกรูป
๑๘) เจ้าบ่าวและเจ้าสาวประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมด้วยกัน ทุกรูป
๑๙) พระสงฆ์อนุโมทนา
๒๐) เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกรวดน้ำ-รับพร พร้อมกัน
๒๑) เจ้าบ่าวและเจ้าสาวประนมมือเข้าไปรับน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์แต่ละรูป จบครบทุกรูป
๒๒) เสร็จพิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน เมษายน 9, 2015 นิ้ว พิธีมงคลสมรส

 

ป้ายกำกับ: ,