RSS

Tag Archives: ทานพิธี

การถวายผ้าป่า (สามัคคี)

การถวายผ้าป่า (สามัคคี)

ดาวน์โหลด

               การถวายผ้าป่า ไม่ใช่เป็นการถวายทานตามกาลเช่นการทอดกฐิน แล้วแต่ใครมีศรัทธาจะทำเมื่อไร ก็รวบรวมนัดหมายญาติมิตรพรรคพวกทอดถวายเมื่อนั้น ผ้าป่า ครั้งพุทธกาล เรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหนทิ้งอยู่ตามป่าบ้าง ป่าช้าบ้าง ตามถนนหนทางบ้าง แขวนห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง ซึ่งครั้งพุทธกาลทรงอนุญาตให้ภิกษุแสวงหาผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของเขาทิ้งแล้ว หรือผ้าที่เขาห่อซากศพทิ้งไว้ตามป่าช้า และเศษผ้าที่ทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง นำมาซักฟอกตัดเย็บเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งที่ต้องการ แล้วใช้นุ่งห่ม พุทธศาสนิกชนผู้นับถือพระพุทธศาสนาส่วนมากในสมัยนั้นเห็นความลำบากของภิกษุในเรื่องนี้มีความประสงฆ์จะบำเพ็ญกุศลซึ่งไม่ขัดต่อพระพุทธบัญญัติในขณะนั้น จึงได้จัดหาผ้าที่สมควรแก่สมณะบริโภคไปทอดทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ โดยมากเป็นป่าช้าที่รู้ว่าภิกษุผู้แสวงหาเดินไป

การเตรียมการ
๑) จัดโต๊ะหมู่บูชาพร้อมเครื่องนมัสการ
๒) ต้นผ้าป่าหรือกองผ้าป่าซึ่งมีผ้าไตร หรือจีวร หรือสบง หรือผ้าเช็ดตัวสีเหลือง พาดไว้ที่กิ่งไม้ ปักไว้ในกระถาง หรือกระป๋อง ซึ่งบรรจุข้าวสารและอาหารแห้งตามศรัทธา
๓) ปัจจัยบำรุงวัดตามศรัทธา
๔) เตรียมการนิมนต์พระสงฆ์
๕) อุปกรณ์เครื่องใช้ในงานพิธี

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อพระสงฆ์ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์
๒) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล
๔) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีรับศีลพร้อมกัน
๕) กล่าวรายงาน (กรณีมีการจัดถวายผ้าป่าที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจกรรม สาธารณ-
ประโยชน์ และมีการกล่าวรายงานเพื่อต้องการให้ผู้ที่มาร่วมพิธีได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการจัดพิธีถวายผ้าป่า)
๖) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพประคองผ้าไตร
๗) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพ กล่าว “นะโม ๓ จบ”
๘) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพ กล่าวคำถวายผ้าป่า
๙) เมื่อกล่าวคำถวายจบ นำผ้าไตรจีวรไปวางไว้ที่กิ่งไม้ หรือพาดยังที่ที่จัดเตรียมไว้
๑๐) นิมนต์พระสงฆ์ลงมาพิจารณาผ้าป่า (เจ้าหน้าที่เตรียมพัดรองหรือตาลปัตรให้พระสงฆ์)
๑๑) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์
๑๒) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๓) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๔) เสร็จพิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ: ,

การถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐิน

การถวายผ้ากฐิน

643630-topic-ix-1

            การถวายผ้ากฐินหรือการทอดกฐิน ถือเป็นการถวายทานที่มีกาลเวลา คือ เป็นการถวายทานภายหลังวันออกพรรษา คือ ในระหว่างวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) และเพื่อให้ได้ทราบถึงสาเหตุที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับกฐินและต่อมาพุทธศาสนิกชนได้ถือเป็นการบำเพ็ญบุญสืบต่อกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

           การทอดกฐินนั้น เมื่อผู้มีศรัทธาประสงค์จะนำผ้ากฐินไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งก็ตามผู้มีศรัทธานั้นจะต้องไปจองไว้กับเจ้าอาวาส หรือบอกกล่าวให้พระสงฆ์วัดนั้น ๆ ทราบล่วงหน้าก่อนว่าในปีนี้จะนำกฐินมาทอด ณ วัดนี้ เพื่อทางวัดจะได้ประกาศให้ทายกทายิกาหรือผู้มีศรัทธารายอื่น ๆ ได้ทราบว่า ในพรรษากาลนี้มีผู้จองกฐินมาทอด ณ วัดนี้แล้ว บางกรณีผู้ศรัทธาไม่ได้แจ้งให้พระสงฆ์ได้ทราบไว้ก่อนล่วงหน้า แต่ได้นำกฐินไปทอดในทันทีที่ไปถึงวัดนั้น จะเรียกว่า “กฐินจร”

การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมผ้าไตรกฐิน จำนวน ๑ ไตร (ถ้าเป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ต้องเตรียมผ้าขาว ๑ พับ ยาวประมาณ ๘-๑๐ เมตร วางบนผ้าไตรกฐินด้วย และจัดเตรียมสีย้อมผ้า (สีกลัก) หรือสีตามจีวรที่วัดนั้น ๆ ใช้)
๒) ไตรจีวร สำหรับถวายคู่สวด ๒ ไตร
๓) ของอื่น ๆ ที่พระสงฆ์ใช้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งถือเป็นบริวารกฐิน
๔) จตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์อันดับ ตามจำนวนพระสงฆ์สามเณรในวัดนั้น
๕) ปัจจัยสำหรับไว้ใช้จ่ายในการก่อสร้างหรือบำรุงถาวรวัตถุในอาราม
๖) เทียนปาติโมกข์ จำนวน ๑ ชุด (เทียนขาว จำนวน ๒๔ เล่ม)
๗) พานแว่นฟ้า สำหรับวางผ้าไตรกฐิน และพานวางเทียนปาติโมกข์
๘) ดอกไม้ ธูป เทียน สำหรับถวายพระภิกษุสามเณร

แนวทางการปฏิบัติงาน (ก่อนเข้าสู่พิธีการ)
๑) ถ้าเจ้าภาพมีความประสงค์จะให้มีการฉลององค์กฐิน จัดพิธีเช่นเดียวกับงานมงคลต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องการดำเนินงานพิธีมงคล
๒) จัดโต๊ะหมู่หรือโต๊ะผ้าไตรกฐิน และบริวารกฐินเพิ่มขึ้นอีก ๑ ที่ จากการตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย
๓) เมื่อถึงวันที่จะนำกฐินไปทอดยังวัดที่ได้จองไว้ จะให้มีการแห่แหนไปยังวัดนั้น
๔) เมื่อถึงวัดจะให้มีการนำองค์กฐินไปเวียนประทักษิณรอบอุโบสถก่อน ๓ รอบ ก็ได้หรือจะนำองค์กฐินเข้าไปยังอุโบสถโดยไม่ต้องเวียนประทักษิณก็ได้
๕) เมื่อเข้าสู่สถานที่ที่ถวายผ้ากฐินและบริวารกฐิน (โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หรือสถานที่ที่ทางวัดเห็นว่าเหมาะสม) แล้ว ให้จัดวางผ้ากฐินและบริวารกฐินให้เรียบร้อยสวยงาม

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์ลงสู่อุโบสถหรือศาลาการเปรียญ และนั่งยังอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว
๒) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพประเคนพัดรองหรือตาลปัตรที่ระลึกแด่ประธานสงฆ์
๔) เจ้าหน้าที่พิธีอาราธนาศีล
๕) ประธานสงฆ์ให้ศีล
๖) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพ และผู้ร่วมอนุโมทนาการทอดกฐินรับศีลพร้อมกัน
๗) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพหยิบผ้าห่มพระประธานมองให้ไวยาวัจกรหรหรือเจ้าหน้าที่
๘) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพหยิบผ้าไตรกฐินที่พานแว่นฟ้าขึ้นอุ้มประคองประนมมือ หันหน้าไปทางพระประธาน กล่าว “นะโม ๓ จบ”
๙) หันหน้าไปทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน
๑๐) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพวางผ้าไตรบนพานแว่นฟ้า ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ แล้วยกประเคนพระสงฆ์รูปที่ ๒ (ต้องประสานกับพระสงฆ์ เนื่องจากวัดบางวัดให้วางไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ และพระสงฆ์จะประกอบพิธีอปโลกน์กฐิน โดยประธานพิธีหรือเจ้าภาพไม่ต้องประเคนผ้าไตรกฐิน)
๑๑) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพยกเทียนปาติโมกข์ประเคนพระสงฆ์รูปที่ ๒
๑๒) พระสงฆ์ประกอบพิธีอปโลกน์กฐิน
๑๓) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพประเคนบริวารกฐิน และเครื่องไทยธรรม
๑๔) เจ้าหน้าที่ประกาศยอดเงินของกฐิน
๑๕) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพถวายยอดปัจจัยบำรุงวัดแด่ประธานสงฆ์
๑๖) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๗) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๘) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกราบพระประธาน (กราบ ๓ ครั้ง)
๑๙) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกราบลาพระสงฆ์
๒๐) เสร็จพิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ: ,

การถวายสังฆทาน

การถวายสังฆทาน

dog3b

            การถวายสังฆทาน คือ การถวายทานที่อุทิศแก่สงฆ์ ซึ่งต้องเป็นการตั้งใจถวายแก่สงฆ์จริง ๆ ไม่เห็นแก่หน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือสามเณร เป็นพระสงฆ์เถระหรือพระสงฆ์อันดับ ถ้าเจาะจงจะถวายพระภิกษุรูปใดแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้มีจิตใจไขว้เขวเกิดความยินดียินร้ายไปตามบุคคลที่รับสังฆทานนั้น จะเป็นภิกษุหรือสามเณร จะเป็นรูปเดียวหรือหลายรูปก็ถือว่าเป็นการถวายสังฆทานทั้งสิ้น และถือว่าเป็นผลสำเร็จในการถวายสังฆทานแล้ว เนื่องจากผู้รับสังฆทานที่ถวายถือเป็นการรับในนามสงฆ์ ซึ่งสงฆ์จัดมาหรือเป็นผู้มาถึงเฉพาะหน้าในขณะตั้งใจถวายสงฆ์แล้ว ซึ่งการถวายทานที่อุทิศให้เป็นของสงฆ์จริง ๆ นี้ ในครั้งพุทธกาลมีแบบแผนในการถวายสังฆทาน ๗ ประการ คือ
๑) ถวายแก่หมู่ภิกษุและภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๒) ถวายแก่หมู่ภิกษุ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๓) ถวายแก่หมู่ภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๔) ถวายแก่หมู่ภิกษุและภิกษุณี ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๕) ถวายแก่หมู่ภิกษุ ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๖) ถวายแก่หมู่ภิกษุณี ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๗) ร้องขอต่อสงฆ์ให้ส่งใคร ๆ ไปรับแล้วถวายแก่ผู้นั้น

การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมทานวัตถุที่ต้องการถวายให้เสร็จเรียบร้อย ตามศรัทธาและทันเวลาถวาย เช่น อาหารคาว อาหารหวาน น้ำดื่ม เครื่องกระป๋อง อาหารแห้ง ของใช้ต่าง ๆ ที่พระสงฆ์ใช้ได้ไม่ผิดพระวินัย (ถ้าอยู่ในกาล คือ เช้า ถึงก่อนเวลาเที่ยงวัน ให้ประเคนได้ แต่ถ้าอยู่นอกกาลไม่ต้องประเคน เพียงแต่ตั้งไว้ ณ เบื้องหน้าพระภิกษุ และให้ประเคนได้เฉพาะวัตถุที่ประเคนนอกกาลได้เท่านั้น)
๒) จัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียนจุดบูชาพระรัตนตรัย
๓) แจ้งความประสงค์ที่จะถวายทานนั้น ๆ ให้พระสงฆ์ทราบ
๔) เตรียมนิมนต์พระสงฆ์ที่จะรับสังฆทาน
๕) จัดเตรียมสถานที่ หรือนัดหมายสถานที่ที่จะถวายสังฆทานให้พระสงฆ์ทราบ

แนวทางปฏิบัติ
๑) พระสงฆ์มาถึงยังสถานที่จะทำพิธีถวายสังฆทาน (ที่บ้านหรือที่วัด) ตามที่กำหนดและนิมนต์พระสงฆ์ไว้
๒) นิมนต์พระสงฆ์นั่งยังอาสนสงฆ์ที่จัดเตรียมไว้ตามจำนวนที่จะถวายสังฆทาน
๓) นำเครื่องสังฆทานมาตั้งเรียงไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์
๔) จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง
๕) อาราธนาศีล ดังนี้ “มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ. ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ. ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.”
๖) พระสงฆ์ให้ศีล
๗) กล่าวนโม ๓ จบ
๘) กล่าวคำถวายสังฆทาน (ในกรณีถวายสังฆทานเพื่อความสุขความเจริญของตนเอง) ดั
๙) คำกล่าวถวายสังฆทาน (ในกรณีเพื่ออุทิศให้ผู้ตาย)
๑๐) พระสงฆ์รับ “สาธุ”
๑๑) ประเคนวัตถุที่จะถวายสังฆทาน (ถ้านอกกาลคือหลังเที่ยงวันให้ประเคนเฉพาะผ้าไตร หรือเครื่องสังฆทานที่ไม่ใช่อาหาร)
๑๒) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๓) ผู้ถวายสังฆทาน กรวดน้ำ-รับพร
๑๔) เสร็จพิธีถวายสังฆทาน

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน เมษายน 10, 2015 นิ้ว การถวายสังฆทาน

 

ป้ายกำกับ: ,