RSS

Author Archives: panupong084

การถวายผ้าป่า (สามัคคี)

การถวายผ้าป่า (สามัคคี)

ดาวน์โหลด

               การถวายผ้าป่า ไม่ใช่เป็นการถวายทานตามกาลเช่นการทอดกฐิน แล้วแต่ใครมีศรัทธาจะทำเมื่อไร ก็รวบรวมนัดหมายญาติมิตรพรรคพวกทอดถวายเมื่อนั้น ผ้าป่า ครั้งพุทธกาล เรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหนทิ้งอยู่ตามป่าบ้าง ป่าช้าบ้าง ตามถนนหนทางบ้าง แขวนห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง ซึ่งครั้งพุทธกาลทรงอนุญาตให้ภิกษุแสวงหาผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของเขาทิ้งแล้ว หรือผ้าที่เขาห่อซากศพทิ้งไว้ตามป่าช้า และเศษผ้าที่ทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง นำมาซักฟอกตัดเย็บเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งที่ต้องการ แล้วใช้นุ่งห่ม พุทธศาสนิกชนผู้นับถือพระพุทธศาสนาส่วนมากในสมัยนั้นเห็นความลำบากของภิกษุในเรื่องนี้มีความประสงฆ์จะบำเพ็ญกุศลซึ่งไม่ขัดต่อพระพุทธบัญญัติในขณะนั้น จึงได้จัดหาผ้าที่สมควรแก่สมณะบริโภคไปทอดทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ โดยมากเป็นป่าช้าที่รู้ว่าภิกษุผู้แสวงหาเดินไป

การเตรียมการ
๑) จัดโต๊ะหมู่บูชาพร้อมเครื่องนมัสการ
๒) ต้นผ้าป่าหรือกองผ้าป่าซึ่งมีผ้าไตร หรือจีวร หรือสบง หรือผ้าเช็ดตัวสีเหลือง พาดไว้ที่กิ่งไม้ ปักไว้ในกระถาง หรือกระป๋อง ซึ่งบรรจุข้าวสารและอาหารแห้งตามศรัทธา
๓) ปัจจัยบำรุงวัดตามศรัทธา
๔) เตรียมการนิมนต์พระสงฆ์
๕) อุปกรณ์เครื่องใช้ในงานพิธี

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อพระสงฆ์ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์
๒) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล
๔) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีรับศีลพร้อมกัน
๕) กล่าวรายงาน (กรณีมีการจัดถวายผ้าป่าที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจกรรม สาธารณ-
ประโยชน์ และมีการกล่าวรายงานเพื่อต้องการให้ผู้ที่มาร่วมพิธีได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการจัดพิธีถวายผ้าป่า)
๖) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพประคองผ้าไตร
๗) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพ กล่าว “นะโม ๓ จบ”
๘) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพ กล่าวคำถวายผ้าป่า
๙) เมื่อกล่าวคำถวายจบ นำผ้าไตรจีวรไปวางไว้ที่กิ่งไม้ หรือพาดยังที่ที่จัดเตรียมไว้
๑๐) นิมนต์พระสงฆ์ลงมาพิจารณาผ้าป่า (เจ้าหน้าที่เตรียมพัดรองหรือตาลปัตรให้พระสงฆ์)
๑๑) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์
๑๒) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๓) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๔) เสร็จพิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ: ,

การถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐิน

การถวายผ้ากฐิน

643630-topic-ix-1

            การถวายผ้ากฐินหรือการทอดกฐิน ถือเป็นการถวายทานที่มีกาลเวลา คือ เป็นการถวายทานภายหลังวันออกพรรษา คือ ในระหว่างวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) และเพื่อให้ได้ทราบถึงสาเหตุที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับกฐินและต่อมาพุทธศาสนิกชนได้ถือเป็นการบำเพ็ญบุญสืบต่อกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

           การทอดกฐินนั้น เมื่อผู้มีศรัทธาประสงค์จะนำผ้ากฐินไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งก็ตามผู้มีศรัทธานั้นจะต้องไปจองไว้กับเจ้าอาวาส หรือบอกกล่าวให้พระสงฆ์วัดนั้น ๆ ทราบล่วงหน้าก่อนว่าในปีนี้จะนำกฐินมาทอด ณ วัดนี้ เพื่อทางวัดจะได้ประกาศให้ทายกทายิกาหรือผู้มีศรัทธารายอื่น ๆ ได้ทราบว่า ในพรรษากาลนี้มีผู้จองกฐินมาทอด ณ วัดนี้แล้ว บางกรณีผู้ศรัทธาไม่ได้แจ้งให้พระสงฆ์ได้ทราบไว้ก่อนล่วงหน้า แต่ได้นำกฐินไปทอดในทันทีที่ไปถึงวัดนั้น จะเรียกว่า “กฐินจร”

การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมผ้าไตรกฐิน จำนวน ๑ ไตร (ถ้าเป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ต้องเตรียมผ้าขาว ๑ พับ ยาวประมาณ ๘-๑๐ เมตร วางบนผ้าไตรกฐินด้วย และจัดเตรียมสีย้อมผ้า (สีกลัก) หรือสีตามจีวรที่วัดนั้น ๆ ใช้)
๒) ไตรจีวร สำหรับถวายคู่สวด ๒ ไตร
๓) ของอื่น ๆ ที่พระสงฆ์ใช้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งถือเป็นบริวารกฐิน
๔) จตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์อันดับ ตามจำนวนพระสงฆ์สามเณรในวัดนั้น
๕) ปัจจัยสำหรับไว้ใช้จ่ายในการก่อสร้างหรือบำรุงถาวรวัตถุในอาราม
๖) เทียนปาติโมกข์ จำนวน ๑ ชุด (เทียนขาว จำนวน ๒๔ เล่ม)
๗) พานแว่นฟ้า สำหรับวางผ้าไตรกฐิน และพานวางเทียนปาติโมกข์
๘) ดอกไม้ ธูป เทียน สำหรับถวายพระภิกษุสามเณร

แนวทางการปฏิบัติงาน (ก่อนเข้าสู่พิธีการ)
๑) ถ้าเจ้าภาพมีความประสงค์จะให้มีการฉลององค์กฐิน จัดพิธีเช่นเดียวกับงานมงคลต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องการดำเนินงานพิธีมงคล
๒) จัดโต๊ะหมู่หรือโต๊ะผ้าไตรกฐิน และบริวารกฐินเพิ่มขึ้นอีก ๑ ที่ จากการตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย
๓) เมื่อถึงวันที่จะนำกฐินไปทอดยังวัดที่ได้จองไว้ จะให้มีการแห่แหนไปยังวัดนั้น
๔) เมื่อถึงวัดจะให้มีการนำองค์กฐินไปเวียนประทักษิณรอบอุโบสถก่อน ๓ รอบ ก็ได้หรือจะนำองค์กฐินเข้าไปยังอุโบสถโดยไม่ต้องเวียนประทักษิณก็ได้
๕) เมื่อเข้าสู่สถานที่ที่ถวายผ้ากฐินและบริวารกฐิน (โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หรือสถานที่ที่ทางวัดเห็นว่าเหมาะสม) แล้ว ให้จัดวางผ้ากฐินและบริวารกฐินให้เรียบร้อยสวยงาม

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์ลงสู่อุโบสถหรือศาลาการเปรียญ และนั่งยังอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว
๒) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพประเคนพัดรองหรือตาลปัตรที่ระลึกแด่ประธานสงฆ์
๔) เจ้าหน้าที่พิธีอาราธนาศีล
๕) ประธานสงฆ์ให้ศีล
๖) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพ และผู้ร่วมอนุโมทนาการทอดกฐินรับศีลพร้อมกัน
๗) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพหยิบผ้าห่มพระประธานมองให้ไวยาวัจกรหรหรือเจ้าหน้าที่
๘) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพหยิบผ้าไตรกฐินที่พานแว่นฟ้าขึ้นอุ้มประคองประนมมือ หันหน้าไปทางพระประธาน กล่าว “นะโม ๓ จบ”
๙) หันหน้าไปทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน
๑๐) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพวางผ้าไตรบนพานแว่นฟ้า ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ แล้วยกประเคนพระสงฆ์รูปที่ ๒ (ต้องประสานกับพระสงฆ์ เนื่องจากวัดบางวัดให้วางไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ และพระสงฆ์จะประกอบพิธีอปโลกน์กฐิน โดยประธานพิธีหรือเจ้าภาพไม่ต้องประเคนผ้าไตรกฐิน)
๑๑) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพยกเทียนปาติโมกข์ประเคนพระสงฆ์รูปที่ ๒
๑๒) พระสงฆ์ประกอบพิธีอปโลกน์กฐิน
๑๓) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพประเคนบริวารกฐิน และเครื่องไทยธรรม
๑๔) เจ้าหน้าที่ประกาศยอดเงินของกฐิน
๑๕) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพถวายยอดปัจจัยบำรุงวัดแด่ประธานสงฆ์
๑๖) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๗) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๘) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกราบพระประธาน (กราบ ๓ ครั้ง)
๑๙) ประธานพิธีหรือเจ้าภาพกราบลาพระสงฆ์
๒๐) เสร็จพิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ: ,

การถวายสังฆทาน

การถวายสังฆทาน

dog3b

            การถวายสังฆทาน คือ การถวายทานที่อุทิศแก่สงฆ์ ซึ่งต้องเป็นการตั้งใจถวายแก่สงฆ์จริง ๆ ไม่เห็นแก่หน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือสามเณร เป็นพระสงฆ์เถระหรือพระสงฆ์อันดับ ถ้าเจาะจงจะถวายพระภิกษุรูปใดแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้มีจิตใจไขว้เขวเกิดความยินดียินร้ายไปตามบุคคลที่รับสังฆทานนั้น จะเป็นภิกษุหรือสามเณร จะเป็นรูปเดียวหรือหลายรูปก็ถือว่าเป็นการถวายสังฆทานทั้งสิ้น และถือว่าเป็นผลสำเร็จในการถวายสังฆทานแล้ว เนื่องจากผู้รับสังฆทานที่ถวายถือเป็นการรับในนามสงฆ์ ซึ่งสงฆ์จัดมาหรือเป็นผู้มาถึงเฉพาะหน้าในขณะตั้งใจถวายสงฆ์แล้ว ซึ่งการถวายทานที่อุทิศให้เป็นของสงฆ์จริง ๆ นี้ ในครั้งพุทธกาลมีแบบแผนในการถวายสังฆทาน ๗ ประการ คือ
๑) ถวายแก่หมู่ภิกษุและภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๒) ถวายแก่หมู่ภิกษุ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๓) ถวายแก่หมู่ภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๔) ถวายแก่หมู่ภิกษุและภิกษุณี ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๕) ถวายแก่หมู่ภิกษุ ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๖) ถวายแก่หมู่ภิกษุณี ไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
๗) ร้องขอต่อสงฆ์ให้ส่งใคร ๆ ไปรับแล้วถวายแก่ผู้นั้น

การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมทานวัตถุที่ต้องการถวายให้เสร็จเรียบร้อย ตามศรัทธาและทันเวลาถวาย เช่น อาหารคาว อาหารหวาน น้ำดื่ม เครื่องกระป๋อง อาหารแห้ง ของใช้ต่าง ๆ ที่พระสงฆ์ใช้ได้ไม่ผิดพระวินัย (ถ้าอยู่ในกาล คือ เช้า ถึงก่อนเวลาเที่ยงวัน ให้ประเคนได้ แต่ถ้าอยู่นอกกาลไม่ต้องประเคน เพียงแต่ตั้งไว้ ณ เบื้องหน้าพระภิกษุ และให้ประเคนได้เฉพาะวัตถุที่ประเคนนอกกาลได้เท่านั้น)
๒) จัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียนจุดบูชาพระรัตนตรัย
๓) แจ้งความประสงค์ที่จะถวายทานนั้น ๆ ให้พระสงฆ์ทราบ
๔) เตรียมนิมนต์พระสงฆ์ที่จะรับสังฆทาน
๕) จัดเตรียมสถานที่ หรือนัดหมายสถานที่ที่จะถวายสังฆทานให้พระสงฆ์ทราบ

แนวทางปฏิบัติ
๑) พระสงฆ์มาถึงยังสถานที่จะทำพิธีถวายสังฆทาน (ที่บ้านหรือที่วัด) ตามที่กำหนดและนิมนต์พระสงฆ์ไว้
๒) นิมนต์พระสงฆ์นั่งยังอาสนสงฆ์ที่จัดเตรียมไว้ตามจำนวนที่จะถวายสังฆทาน
๓) นำเครื่องสังฆทานมาตั้งเรียงไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์
๔) จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง
๕) อาราธนาศีล ดังนี้ “มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ. ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ. ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.”
๖) พระสงฆ์ให้ศีล
๗) กล่าวนโม ๓ จบ
๘) กล่าวคำถวายสังฆทาน (ในกรณีถวายสังฆทานเพื่อความสุขความเจริญของตนเอง) ดั
๙) คำกล่าวถวายสังฆทาน (ในกรณีเพื่ออุทิศให้ผู้ตาย)
๑๐) พระสงฆ์รับ “สาธุ”
๑๑) ประเคนวัตถุที่จะถวายสังฆทาน (ถ้านอกกาลคือหลังเที่ยงวันให้ประเคนเฉพาะผ้าไตร หรือเครื่องสังฆทานที่ไม่ใช่อาหาร)
๑๒) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๓) ผู้ถวายสังฆทาน กรวดน้ำ-รับพร
๑๔) เสร็จพิธีถวายสังฆทาน

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน เมษายน 10, 2015 นิ้ว การถวายสังฆทาน

 

ป้ายกำกับ: ,

การจัดพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบวันตายของผู้วายชนม์

การจัดพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบวันตายของผู้วายชนม์

14068025771406802693l

           ในปัจจุบันมีการบำเพ็ญกุศลซึ่งปรารภถึงวันครบรอบวันตายของบรรพบุรุษที่ได้วายชนม์ไปแล้ว มาเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ที่วายชนม์ อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีที่ผู้ปรารภเหตุแห่งการบำเพ็ญกุศลที่มีต่อบุพการีชนทั้งหลาย งานนี้จัดเป็นงานอวมงคล เช่นเดียวกับการบำเพ็ญศพ ๗ วัน ๕๐ วัน หรือ ๑๐๐ วัน ในส่วนพิธีสงฆ์ก็มีการบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับงานอวมงคลดังกล่าวแล้ว เช่น นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
และจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา อันเป็นการเทศนาเพื่อปรารภคุณูปการของผู้วายชนม์ที่มีต่อบุคคลหรือประเทศชาติแล้วแต่กรณีด้วยก็ได้

การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ในงานอมงคล
๒) โต๊ะหมู่บูชา พระพุทธรูป พร้อมเครื่องนมัสการ จำนวน ๑ ชุด
๓) โต๊ะหมู่บูชา สำหรับประดิษฐานอัฐิ หรือสิ่งอันเป็นเครื่องหมายแทนผู้วายชนม์พร้อมเครื่องบูชา และเครื่องทองน้อย จำนวน ๑ ชุด
๔) เครื่องรับรองพระสงฆ์ ตามจำนวนพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์
๕) นิมนต์พระสงฆ์เพื่อเจริญพระพุทธมนต์
๖) จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์
๗) ไตรจีวรสำหรับถวายพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาและเจริญพระพุทธมนต์
๘) ภูษาโยง (กรณีผู้วายชนม์เป็นชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป จะต้องมีผ้ารองโยง ซึ่งเป็นผ้าขาวรองภูษาโยงด้วย)
๙) ธรรมาสน์เทศน์ เทียนส่องธรรม เครื่องทองน้อยอีก จำนวน ๒ ชุด (กรณีที่มีการแสดงพระธรรมเทศนา)
๑๐) ภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อประธานพิธีหรือเจ้าภาพ และผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน ณ สถานที่ประกอบพิธี
๒) ประธานหรือเจ้าภาพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) ประธานหรือเจ้าภาพ จุดเครื่องทองน้อย (กรณีเป็นอัฐิของพระสงฆ์ กราบ ๓ ครั้งเป็นอัฐิของฆราวาส กราบ ๑ ครั้ง ไม่แบมือ)
๔) ถวายพัดรองหรือตาลปัตรที่ระลึก
๕) เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล (กรณีมีการแสดงพระธรรมเทศนาให้อาราธนาศีลเมื่อพระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนา และไม่ว่ากำหนดการจะให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาก่อนหรือหลังเจริญพระพุทธมนต์ ก็ให้มีการอาราธนาศีลไว้ในช่วงแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อรับศีลแล้วเจ้าหน้าที่จึงจะอาราธนาธรรม)
๖) เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร
๗) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๘) ประธานหรือเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารแล้ว
๙) เจ้าหน้าที่นำเครื่องไทยธรรมตั้งไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ทุกรูป
๑๐) เจ้าหน้าที่ลาดภูษาโยง
๑๑) ประธานหรือเจ้าภาพทอดผ้าไตรบังสุกุล
๑๒) พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
๑๓) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๔) ประธานหรือเจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๕) เสร็จพิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ: ,

การเตรียมการและการปฏิบัติพิธีงานศพทั่วไป

พิธีงานศพทั่วไป

45

การเตรียมอุปกรณ์ในพิธีงานศพ
การเตรียมเครื่องใช้สำหรับการนี้ นอกจากเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย และเครื่องบูชาศพแล้ว จะต้องจัดเตรียมสิ่งที่ต้องใช้ในพิธีที่เกี่ยวข้องกับศพ ดังนี้
๑) ภูษาโยง หรือด้ายสายโยง
๒) เครื่องทองน้อย
๓) ตู้พระอภิธรรม
๔) เครื่องกระบะมุก หรือเครื่องบูชาพระธรรม
๕) สิ่งของเครื่องใช้สำหรับพิธีสงฆ์

การอาบน้ำศพ
๑) การอาบน้ำศพนี้ ถือเป็นเรื่องภายในครอบครัว ระหว่างญาติมิตรที่สนิท ไม่นิยมเชิญบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นการอาบน้ำชำระร่างกายศพจริง ๆ โดยการอาบน้ำอุ่นก่อนแล้วอาบด้วยน้ำเย็น ฟอกด้วยสบู่ขัดถูร่างกายศพให้สะอาด
๒) เมื่ออาบน้ำศพเสร็จแล้ว ให้เอาน้ำขมิ้นทาตามร่างกายตลอดถึงฝ่าเท้า แล้วประด้วยน้ำหอม
๓) เมื่ออาบน้ำชำระร่างกายศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็แต่งตัวให้ศพตามฐานะของผู้ตาย เช่น เป็นข้าราชการ ก็นิยมแต่งเครื่องแบบ เป็นต้น เครื่องแต่งตัวนั้นนิยมใช้เสื้อผ้าที่สะอาดและใหม่เท่าที่มีอยู่ หลังจากนั้นนำศพขึ้นนอนบนเตียงสำหรับรอพิธีรดน้ำศพตามประเพณีนิยม
๔) ห้ามมิให้ผู้ใดเดินผ่านทางด้านศีรษะของศพ เพราะถือว่าเป็นกิริยาอาการที่ไม่แสดงความเคารพต่อศพ
๕) จัดร่างศพให้นอนหงายเหยียดยาว โดยใช้ผ้าห่มหรือผ้าแพรคลุมตลอดร่างศพ เปิดไว้เฉพาะหน้าและมือขวาของศพ และจัดมือขวาให้เหยียดออกคอยรับการรดน้ำจากผู้ที่เคารพนับถือ
๖) จัดเตรียมขันโตกใส่น้ำอบ และโรยกลีบดอกไม้ไว้ด้านขวามือของศพ พร้อมทั้งขันเล็ก ๆเพื่อไว้ให้บุตรหลานหรือทายาทตักน้ำให้ผู้ที่มีความประสงค์จะมารดน้ำศพ เพื่อการขมาศพ
๗) จัดเตรียมขันโตก หรือขันน้ำพานรองขนาดใหญ่ตั้งไว้คอยรองรับน้ำที่รดศพ
๘) ก่อนพิธีรดน้ำศพ ควรให้เจ้าภาพจุดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยก่อน แล้วจึงเริ่มพิธีรดน้ำศพ
๙) เมื่อผู้มีเกียรติที่มาแสดงความเคารพศพด้วยการรดน้ำศพหมดแล้ว ถ้าได้รับพระราชทานน้ำอาบศพ ให้เชิญผู้อาวุโสที่อยู่ในที่นั้น เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รดน้ำศพพระราชทานซึ่งถือเป็นลำดับสุดท้ายของพิธีรดน้ำศพ เมื่อทำพิธีรดน้ำศพพระราชทานแล้วถือเป็นเสร็จพิธีรดน้ำศพไม่สามารถให้ผู้หนึ่งผู้ใดรดน้ำศพอีก
๑๐) ต่อจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับหน้าที่ดำเนินการนำศพลงหีบ เพื่อกระทำพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป
๑๑) เมื่อนำศพลงโลงหรือโกศแล้ว บางเจ้าภาพจะให้มีการทอดผ้าบังสุกุล (ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไตรจีวรหรือสบงตามฐานะ) เพื่อให้พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล ซึ่งเรียกว่า บังสุกุลปากหีบหรือบังสุกุลปากโกศ (ซึ่งจะนิมนต์พระสงฆ์เพื่อการนี้เท่าใดก็ได้ไม่มีกำหนด แต่ถ้าเป็นพิธีของหลวงมักจะนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน ๑๐ รูป)
๑๒) เมื่อพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลเรียบร้อยแล้ว นิมนต์พระสงฆ์จำนวน ๔ รูป

สวดพระอภิธรรม ต่อจากพิธีบังสุกุลปากหีบ หรือปากโกศทันที โดยปฏิบัติดังนี้
(๑) เมื่อพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลปากหีบ หรือปากโกศ ลงจากอาสน์สงฆ์แล้ว
(๒) พิธีกรตั้งตู้พระธรรมเบื้องหน้าอาสนสงฆ์ของพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
(๓) แต่งตั้งเครื่องนมัสการพระธรรม
(๔) นิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จำนวน ๔ รูป ขึ้นอาสนสงฆ์
(๕) เชิญเจ้าภาพหรือประธานพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระธรรม
(๖) พระสงฆ์ จำนวน ๔ รูป สวดพระอภิธรรม จำนวน ๑ จบ (ถ้าเจ้าภาพประสงค์จะให้สวดจนครบ ๔ จบ ก็ได้) ในกรณีสวด ๑ จบ เมื่อได้เวลาสวดพระอภิธรรมตามที่วัดกำหนดจะสวดต่ออีก ๓ จบ ก็ทำได้ หรือเจ้าภาพจะให้นิมนต์สวดตามเวลาของวัดก็ย่อมได้เช่นกัน

การจัดสถานที่ตั้งศพ
การจัดสถานที่ตั้งศพนั้น จะต้องประกอบด้วยสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับพิธีงานศพ ดังนี้
๑) สถานที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย ตั้งไว้ทางด้านศีรษะของศพ
๒) สถานที่ตั้งอาสน์สงฆ์สำหรับพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ตั้งไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา (เว้นไว้แต่สถานที่บังคับไม่อาจจะตั้งอาสน์สงฆ์ไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาได้)
๓) สถานที่ตั้งศพ ให้ตั้งหันด้านศีรษะของศพไปทางโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป
๔) สถานที่ตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นิยมตั้งไว้เบื้องหน้าหีบหรือโกศศพ หรือหน้ารูปถ่ายของศพโดยการนำโต๊ะหมู่มาจัดตั้งให้เหมาะสมและสวยงาม
๕) สถานที่ตั้งรูปถ่าย นิยมตั้งไว้ทางด้านเท้าของผู้ตาย
๖) สถานที่ตั้งหรือการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ให้ศึกษาในพิธีงานอวมงคลตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว

การบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพประจำคืน
การจัดพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพประจำคืนนั้น นิยมเริ่มจัดพิธีสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันตั้งศพเป็นต้นไปทุกคืน จนครบสัตตมวารที่ ๑ คือ ครบ ๗ วัน แต่จะจัดให้มีการสวดพระอภิธรรม ๓ คืน หรือ ๕ คืน ก็ได้ ตามความสะดวกของผู้เป็นเจ้าภาพ

การจัดพิธีฌาปนกิจศพ
การจัดงานฌาปนกิจ มีการจัดเป็น ๒ กรณี คือ
๑) การจัดพิธีฌาปนกิจศพหลังจากมีการสวดพระอภิธรรมครบวันตามที่เจ้าภาพกำหนดแล้ว
๒) การจัดพิธีฌาปนกิจศพ โดยการนำศพที่บรรจุไว้และรอโอกาสที่จะฌาปนกิจ

การเก็บอัฐิ
ในพิธีการเก็บอัฐินิยมทำตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น จากวันฌาปนกิจศพเรียบร้อยแล้วสิ่งที่จะต้องเตรียมในพิธีเก็บอัฐิ

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ: ,

พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่

พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่

howto_up_new_house_resize

           การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ คือ การทำบุญในคราวที่ขึ้นบ้านใหม่ หรือย้ายไปอยู่ที่ใหม่หรือการทำบุญเปิดป้ายสำนักงานใหม่

การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมสถานที่ในการประกอบพิธี
๒) โต๊ะหมู่บูชา พระพุทธรูป และเครื่องนมัสการ
๓) เครื่องใช้ในพิธีสงฆ์สำหรับใช้ในงานมงคล
๔) เครื่องรับรองพระสงฆ์ ภาชนะใส่น้ำร้อน น้ำเย็น ถวายพระสงฆ์
๕) ภัตตาหารคาว-หวาน ถวายพระสงฆ์ ถ้ามีการเลี้ยงพระสงฆ์
๖) จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์
๗) นิมนต์พระสงฆ์ ๕, ๗, ๙ รูป ตามความเหมาะสมของสถานที่
๘) กำหนดฤกษ์ หรือเวลาในการประกอบพิธี
๙) โถปริกสำหรับใส่กระแจะแป้งเจิม
๑๐) ทองคำเปลว ๙ แผ่น
๑๑) วงสายสิญจน์รอบอาหารหรือบ้าน ไปยังฐานของพระพุทธรูป แล้วนำกลุ่มสายสิญจน์
วางไว้ที่อาสน์สงฆ์ของประธานสงฆ์

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อได้เวลาตามที่เจ้าภาพกำหนด และผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน
๒) เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล
๔) ประธานสงฆ์ให้ศีล
๕) เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีรับศีล
๖) เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร
๗) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบ
๘) เจ้าภาพถวายภัตตาหารเช้า หรือเพล ตามโอกาสเวลาที่จัดงานพิธี
๙) พระสงฆ์เสร็จภัตตกิจ (ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อย)
๑๐) เจ้าหน้าที่นำเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมมาวางไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ทุกรูป
๑๑) เจ้าภาพหรือผู้แทนประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์
๑๒) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๓) เจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๔) เจ้าภาพนิมนต์ประธานสงฆ์ หรือพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ไปเจิมที่ป้าย หรือประตูบริษัท ห้าง ร้าน สำนักงาน บ้าน เรือน หรือห้อง ตามความประสงค์ของเจ้าภาพ (เจิม ปิดทอง)แล้วประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่ป้าย หรือประตูที่เจิมแล้ว
๑๕) เสร็จพิธี

หมายเหตุ
๑) สามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ ตามกำหนดฤกษ์
๒) ในกรณีเปิดอาคารหรือเปิดป้ายอาคาร ให้เตรียมป้ายและแพรคลุมป้ายและกรรไกรสำหรับตัดริบบิ้นหรือเชือก

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ:

พิธีทำบุญวันเกิด

พิธีทำบุญวันเกิด

โซ่-คชา-ทำบุญวันเกิด-3

           เมื่อถึงดิถีคล้ายวันเกิด ควรทำบุญวันเกิด ถ้าจำวันเกิดได้เพียงทางจันทรคติ (ขึ้นหรือแรม) ควรกำหนดวันทำบุญทางจันทรคตินั้น ถ้าจำได้ทางสุริยคติ (วันที่) ก็ควรกำหนดเอาวันทางสุริยคตินั้น ถ้าจำได้ทั้งสองทางให้ถือวันทางสุริยคติเป็นสำคัญ เพราะสะดวก และใกล้เคียงความจริงกว่า พิธีนี้ทำได้ทั้งที่บ้านและที่วัด จำนวนพระในพิธีมี ๕ รูป ๗ รูป หรือ ๙ รูป แล้วแต่ความประสงค์ ของเจ้าของวันเกิด หรือเจ้าภาพบางท่านก็จะนิมนต์พระสงฆ์เกินกว่าอายุในปีที่ตนเองทำบุญจำนวน ๑ รูป
การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมสถานที่ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
๒) โต๊ะหมู่บูชาพร้อมเครื่องนมัสการ (เช่นเดียวกับพิธีมงคล)
๓) อาสนะพระสงฆ์
๔) เตรียมนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ๕ รูป ๗ รูป ๙ รูป หรือตามความประสงค์
๕) ครอบสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ หรือบาตรสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์
๖) กำหญ้าคาสำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์
๗) ด้ายสายสิญจน์ พร้อมพานรองสายสิญจน์
๘) เครื่องรับรองพระสงฆ์
๙) ภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์
๑๐) เครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม
๑๑) ที่กรวดน้ำ เชิงเทียนชนวน

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อถึงเวลาที่กำหนด เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน
๒) เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) เจ้าภาพถวายพัดรอง หรือตาลปัตรที่ระลึก (ถ้ามี)
๔) ศาสนพิธีกรอาราธนาศีล
๕) ประธานสงฆ์ให้ศีล
๖) เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีประนมมือรับศีลพร้อมกัน
๗) ศาสนพิธีกรอาราธนาพระปริตร
๘) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๙) ศาสนพิธีเชิญเจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ (เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ใกล้จะจบนโม ๘ บท และพระสงฆ์จะขึ้นบท “อเสวนา จ พาลานํ…”
๑๐) เจ้าภาพบูชาข้าวพระพุทธ
๑๑) เจ้าภาพประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์
๑๒) พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อย
๑๓) ศาสนพิธีนำเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม มาเรียงไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ทุกรูป
๑๔) เชิญเจ้าภาพถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
๑๕) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๖) เจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๗) เจ้าภาพรับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์ (ขณะประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่เจ้าภาพ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา)
๑๘) เจ้าภาพส่งพระสงฆ์
๑๙) เสร็จพิธี
๒๐) จากนั้น จะมีการปล่อยนก ปล่อยปลา หรือเต่า แล้วแต่ความประสงค์พิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 
 

ป้ายกำกับ: ,

พิธีมงคลสมรส

พิธีมงคลสมรส

ขั้นตอนงานแต่งงานแบบไทย

          เมื่อหญิงชายต่างมีฉันทะร่วมกันในอันที่จะครองเรือนแล้ว ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ของตนไปสู่ขอกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเสียชั้นหนึ่งก่อน ต่อจากนั้น จะกำหนดวันหมั้น ของหมั้นตามประเพณีนิยมเป็นแหวน ในการหมั้น ไม่ค่อยมีพิธีรีตองอะไรมากนัก ผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินการในเรื่องการหมั้น เรียกว่า เถ้าแก่ เชิญขันหมากไปถึงที่แล้ว ก็กล่าวคำเป็นที่จำเริญใจ และบอกความประสงค์ว่า มาเพื่อขอหมั้น แล้วมอบของหมั้นให้กับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง ปัจจุบันนี้ ให้ฝ่ายชายสวมแหวนหมั้นที่นิ้วนางของฝ่ายหญิงเลยทีเดียว

การเตรียมการ
๑) ขันหมาก
๒) ขันที่ ๑ บรรจุหมาก ๘ คู่ (ก้านทาด้วยชาดแดง) พลู ๘ เรียง เรียงละ ๘ ใบก้านทาด้วยชาดแดง) ใบพลูวางรอบขัน หันปลายพลูขึ้นปากขัน หมากวางไว้ตรงกลาง
๓) ขันที่ ๒ บรรจุดอกรัก ๗ ดอก ดอกบานไม่รู้โรย ๗ ดอก ดอกดาวเรือง ๗ ดอกยอดใบเงิน ยอดใบทอง อย่างละ ๓ ยอด ข้าวเปลือก ๑ ถุง ถั่วเขียว ๑ ถุง งาดำ ๑ ถุง และแหวนทองหมั้น วางบนของเหล่านี้ คลุมปากขันด้วยผ้าสีชมพูหรือผ้าแดง

แนวทางการปฏิบัติ
๑) ผู้ใหญ่ฝ่ายชาย (เฒ่าแก่) เดินออกหน้า (เวลาจัดตั้งขบวนไปหมั้น) ถัดไปเป็นผู้ที่ถือขันหมาก เจ้าบ่าว ญาติอื่น ๆ
๒) (ฝ่ายเจ้าสาว) จัดคนเชิญขันหมากและรับขันหมากไปวางไว้ในที่ที่กำหนด (คนเชิญขันหมากมักใช้เด็กหญิงอายุประมาณ ๗-๘ ขวบ)
๓) ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายนั่งล้อมขันหมากคู่
๔) ผู้ใหญ่ฝ่ายชายกล่าวคำขอหมั้น
๕) ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงกล่าวตอบ
๖) ผู้ใหญ่ฝ่ายชายมอบขันหมากแก่ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง
๗) ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเปิดขันหมากและตรวจดู พร้อมกับกล่าวคำที่เป็นสิริมงคล เช่น “ทุกอย่างล้วนแต่สวยสดงดงาม ทองสุกใสหลายหลาก เงินมากมายก่ายกอง คงจะต้องอำนวยความสุขสดชื่นตลอดชั่วนิรันดรทีเดียว”
๘) ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันโปรยวัตถุมงคล (ถั่ว งา ข้าวตอก ดอกไม้) ลงบนของหมั้น
หรือพร้อมกับกล่าวคำที่เป็นสิริมงคล (หลังจากเสร็จพิธีแล้ว นำไปโปรยไว้ในสวนหรือที่เหมาะสม)
๙) ฝ่ายหญิงนำเจ้าสาวออกมาและน้อมไหว้ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจนครบทุกคน แล้วนั่งในที่ที่กำหนด
๑๐) เมื่อได้เวลาฤกษ์ ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงมอบแหวนหมั้นให้ฝ่ายชาย เพื่อสวมนิ้วฝ่ายหญิงสาวต่อไป
๑๑) ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงสาวไปกราบผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย (กราบครั้งเดียว ไม่แบมือ)
๑๒) ฝ่ายหญิงแจกของชำร่วย และเลี้ยงของว่างรับรองแขก

พิธีสงฆ์เนื่องในพิธีมงคลสมรส
๑) เครื่องใช้พิธีสงฆ์ (สำหรับใช้ในงานพิธีมงคล)
๒) ด้ายมงคลแฝด (นิมนต์พระสงฆ์ที่เคารพนับถือจับให้) ใส่พานตั้งไว้ข้างครอบทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลในขณะที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๓) โถปริก แป้งกระแจะเจิม (ใส่พานตั้งไว้ข้างครอบทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลในขณะที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์)
๔) เตรียมนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๕) เครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์
๖) ภัตตาหารคาว-หวาน สำหรับถวายพระสงฆ์
๗) หมอนกราบ ๒ ใบ (หน้าโต๊ะหมู่บูชา)

แนวทางการปฏิบัติ
๑) เมื่อถึงเวลาตามที่กำหนด และผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน
๒) เชิญเจ้าบ่าวและเจ้าสาวนั่งหน้าโต๊ะหมู่บูชา (เจ้าสาวนั่งทางด้านซ้ายมือของเจ้าบ่าว)
๓) รับเทียนชนวนจากพิธีกร เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจับด้วยกัน จุดธูปเทียนจากซ้ายไปขวาของผู้จุด
๔) กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบพระรัตนตรัยที่หมอนพร้อมกัน ๓ ครั้ง
๕) หันไปทางพระสงฆ์ กราบพระสงฆ์พร้อมกัน ๓ ครั้ง
๖) พิธีกรอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล
๗) เจ้าบ่าว เจ้าสาว และผู้ร่วมพิธีรับศีลพร้อมกัน
๘) ศาสนพิธีกรอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๙) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ก่อนถึงบท “อเสวนา จ พาลานํ…” เจ้าบ่าวและเจ้าสาว
ไปนั่งคุกเข่า เบื้องหน้าประธานสงฆ์
๑๐) รับเทียนชนวนจากศาสนพิธีกร จับด้วยกัน จุดเทียนทำน้ำพระพุทธมนต์บนครอบน้ำพระพุทธมนต์
๑๑) ยกครอบสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์พร้อมกัน ประเคนประธานสงฆ์
๑๒) กลับมานั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ณ ที่เดิม
๑๓) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบทถวายพรพระ “พาหุํ สหสฺสมภินิมฺ…”
๑๔) ลุกไปตักบาตร (จับทัพพี และหยิบของใส่บาตรพร้อมกัน)
๑๕) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบ
๑๖) ประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จ
๑๗) พิธีกรนำเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมไปวางไว้เบื้องหน้าพระสงฆ์ทุกรูป
๑๘) เจ้าบ่าวและเจ้าสาวประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมด้วยกัน ทุกรูป
๑๙) พระสงฆ์อนุโมทนา
๒๐) เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกรวดน้ำ-รับพร พร้อมกัน
๒๑) เจ้าบ่าวและเจ้าสาวประนมมือเข้าไปรับน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์แต่ละรูป จบครบทุกรูป
๒๒) เสร็จพิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน เมษายน 9, 2015 นิ้ว พิธีมงคลสมรส

 

ป้ายกำกับ: ,