RSS

การจัดพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบวันตายของผู้วายชนม์

10 เม.ย.

การจัดพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบวันตายของผู้วายชนม์

14068025771406802693l

           ในปัจจุบันมีการบำเพ็ญกุศลซึ่งปรารภถึงวันครบรอบวันตายของบรรพบุรุษที่ได้วายชนม์ไปแล้ว มาเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ที่วายชนม์ อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีที่ผู้ปรารภเหตุแห่งการบำเพ็ญกุศลที่มีต่อบุพการีชนทั้งหลาย งานนี้จัดเป็นงานอวมงคล เช่นเดียวกับการบำเพ็ญศพ ๗ วัน ๕๐ วัน หรือ ๑๐๐ วัน ในส่วนพิธีสงฆ์ก็มีการบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับงานอวมงคลดังกล่าวแล้ว เช่น นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
และจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา อันเป็นการเทศนาเพื่อปรารภคุณูปการของผู้วายชนม์ที่มีต่อบุคคลหรือประเทศชาติแล้วแต่กรณีด้วยก็ได้

การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ในงานอมงคล
๒) โต๊ะหมู่บูชา พระพุทธรูป พร้อมเครื่องนมัสการ จำนวน ๑ ชุด
๓) โต๊ะหมู่บูชา สำหรับประดิษฐานอัฐิ หรือสิ่งอันเป็นเครื่องหมายแทนผู้วายชนม์พร้อมเครื่องบูชา และเครื่องทองน้อย จำนวน ๑ ชุด
๔) เครื่องรับรองพระสงฆ์ ตามจำนวนพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์
๕) นิมนต์พระสงฆ์เพื่อเจริญพระพุทธมนต์
๖) จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์
๗) ไตรจีวรสำหรับถวายพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาและเจริญพระพุทธมนต์
๘) ภูษาโยง (กรณีผู้วายชนม์เป็นชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป จะต้องมีผ้ารองโยง ซึ่งเป็นผ้าขาวรองภูษาโยงด้วย)
๙) ธรรมาสน์เทศน์ เทียนส่องธรรม เครื่องทองน้อยอีก จำนวน ๒ ชุด (กรณีที่มีการแสดงพระธรรมเทศนา)
๑๐) ภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อประธานพิธีหรือเจ้าภาพ และผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน ณ สถานที่ประกอบพิธี
๒) ประธานหรือเจ้าภาพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) ประธานหรือเจ้าภาพ จุดเครื่องทองน้อย (กรณีเป็นอัฐิของพระสงฆ์ กราบ ๓ ครั้งเป็นอัฐิของฆราวาส กราบ ๑ ครั้ง ไม่แบมือ)
๔) ถวายพัดรองหรือตาลปัตรที่ระลึก
๕) เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล (กรณีมีการแสดงพระธรรมเทศนาให้อาราธนาศีลเมื่อพระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนา และไม่ว่ากำหนดการจะให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาก่อนหรือหลังเจริญพระพุทธมนต์ ก็ให้มีการอาราธนาศีลไว้ในช่วงแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อรับศีลแล้วเจ้าหน้าที่จึงจะอาราธนาธรรม)
๖) เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร
๗) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๘) ประธานหรือเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารแล้ว
๙) เจ้าหน้าที่นำเครื่องไทยธรรมตั้งไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ทุกรูป
๑๐) เจ้าหน้าที่ลาดภูษาโยง
๑๑) ประธานหรือเจ้าภาพทอดผ้าไตรบังสุกุล
๑๒) พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
๑๓) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๔) ประธานหรือเจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๕) เสร็จพิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ: ,

ใส่ความเห็น