RSS

Tag Archives: งานอวมงคล

การจัดพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบวันตายของผู้วายชนม์

การจัดพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบวันตายของผู้วายชนม์

14068025771406802693l

           ในปัจจุบันมีการบำเพ็ญกุศลซึ่งปรารภถึงวันครบรอบวันตายของบรรพบุรุษที่ได้วายชนม์ไปแล้ว มาเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ที่วายชนม์ อันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีที่ผู้ปรารภเหตุแห่งการบำเพ็ญกุศลที่มีต่อบุพการีชนทั้งหลาย งานนี้จัดเป็นงานอวมงคล เช่นเดียวกับการบำเพ็ญศพ ๗ วัน ๕๐ วัน หรือ ๑๐๐ วัน ในส่วนพิธีสงฆ์ก็มีการบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับงานอวมงคลดังกล่าวแล้ว เช่น นิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
และจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา อันเป็นการเทศนาเพื่อปรารภคุณูปการของผู้วายชนม์ที่มีต่อบุคคลหรือประเทศชาติแล้วแต่กรณีด้วยก็ได้

การเตรียมการ
๑) จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ในงานอมงคล
๒) โต๊ะหมู่บูชา พระพุทธรูป พร้อมเครื่องนมัสการ จำนวน ๑ ชุด
๓) โต๊ะหมู่บูชา สำหรับประดิษฐานอัฐิ หรือสิ่งอันเป็นเครื่องหมายแทนผู้วายชนม์พร้อมเครื่องบูชา และเครื่องทองน้อย จำนวน ๑ ชุด
๔) เครื่องรับรองพระสงฆ์ ตามจำนวนพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์
๕) นิมนต์พระสงฆ์เพื่อเจริญพระพุทธมนต์
๖) จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์
๗) ไตรจีวรสำหรับถวายพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาและเจริญพระพุทธมนต์
๘) ภูษาโยง (กรณีผู้วายชนม์เป็นชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป จะต้องมีผ้ารองโยง ซึ่งเป็นผ้าขาวรองภูษาโยงด้วย)
๙) ธรรมาสน์เทศน์ เทียนส่องธรรม เครื่องทองน้อยอีก จำนวน ๒ ชุด (กรณีที่มีการแสดงพระธรรมเทศนา)
๑๐) ภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์

แนวทางการปฏิบัติงาน
๑) เมื่อประธานพิธีหรือเจ้าภาพ และผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน ณ สถานที่ประกอบพิธี
๒) ประธานหรือเจ้าภาพ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (กราบ ๓ ครั้ง)
๓) ประธานหรือเจ้าภาพ จุดเครื่องทองน้อย (กรณีเป็นอัฐิของพระสงฆ์ กราบ ๓ ครั้งเป็นอัฐิของฆราวาส กราบ ๑ ครั้ง ไม่แบมือ)
๔) ถวายพัดรองหรือตาลปัตรที่ระลึก
๕) เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล (กรณีมีการแสดงพระธรรมเทศนาให้อาราธนาศีลเมื่อพระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนา และไม่ว่ากำหนดการจะให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาก่อนหรือหลังเจริญพระพุทธมนต์ ก็ให้มีการอาราธนาศีลไว้ในช่วงแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อรับศีลแล้วเจ้าหน้าที่จึงจะอาราธนาธรรม)
๖) เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร
๗) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
๘) ประธานหรือเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารแล้ว
๙) เจ้าหน้าที่นำเครื่องไทยธรรมตั้งไว้ ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์ทุกรูป
๑๐) เจ้าหน้าที่ลาดภูษาโยง
๑๑) ประธานหรือเจ้าภาพทอดผ้าไตรบังสุกุล
๑๒) พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล
๑๓) พระสงฆ์อนุโมทนา
๑๔) ประธานหรือเจ้าภาพกรวดน้ำ-รับพร
๑๕) เสร็จพิธี

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ: ,

การเตรียมการและการปฏิบัติพิธีงานศพทั่วไป

พิธีงานศพทั่วไป

45

การเตรียมอุปกรณ์ในพิธีงานศพ
การเตรียมเครื่องใช้สำหรับการนี้ นอกจากเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย และเครื่องบูชาศพแล้ว จะต้องจัดเตรียมสิ่งที่ต้องใช้ในพิธีที่เกี่ยวข้องกับศพ ดังนี้
๑) ภูษาโยง หรือด้ายสายโยง
๒) เครื่องทองน้อย
๓) ตู้พระอภิธรรม
๔) เครื่องกระบะมุก หรือเครื่องบูชาพระธรรม
๕) สิ่งของเครื่องใช้สำหรับพิธีสงฆ์

การอาบน้ำศพ
๑) การอาบน้ำศพนี้ ถือเป็นเรื่องภายในครอบครัว ระหว่างญาติมิตรที่สนิท ไม่นิยมเชิญบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นการอาบน้ำชำระร่างกายศพจริง ๆ โดยการอาบน้ำอุ่นก่อนแล้วอาบด้วยน้ำเย็น ฟอกด้วยสบู่ขัดถูร่างกายศพให้สะอาด
๒) เมื่ออาบน้ำศพเสร็จแล้ว ให้เอาน้ำขมิ้นทาตามร่างกายตลอดถึงฝ่าเท้า แล้วประด้วยน้ำหอม
๓) เมื่ออาบน้ำชำระร่างกายศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็แต่งตัวให้ศพตามฐานะของผู้ตาย เช่น เป็นข้าราชการ ก็นิยมแต่งเครื่องแบบ เป็นต้น เครื่องแต่งตัวนั้นนิยมใช้เสื้อผ้าที่สะอาดและใหม่เท่าที่มีอยู่ หลังจากนั้นนำศพขึ้นนอนบนเตียงสำหรับรอพิธีรดน้ำศพตามประเพณีนิยม
๔) ห้ามมิให้ผู้ใดเดินผ่านทางด้านศีรษะของศพ เพราะถือว่าเป็นกิริยาอาการที่ไม่แสดงความเคารพต่อศพ
๕) จัดร่างศพให้นอนหงายเหยียดยาว โดยใช้ผ้าห่มหรือผ้าแพรคลุมตลอดร่างศพ เปิดไว้เฉพาะหน้าและมือขวาของศพ และจัดมือขวาให้เหยียดออกคอยรับการรดน้ำจากผู้ที่เคารพนับถือ
๖) จัดเตรียมขันโตกใส่น้ำอบ และโรยกลีบดอกไม้ไว้ด้านขวามือของศพ พร้อมทั้งขันเล็ก ๆเพื่อไว้ให้บุตรหลานหรือทายาทตักน้ำให้ผู้ที่มีความประสงค์จะมารดน้ำศพ เพื่อการขมาศพ
๗) จัดเตรียมขันโตก หรือขันน้ำพานรองขนาดใหญ่ตั้งไว้คอยรองรับน้ำที่รดศพ
๘) ก่อนพิธีรดน้ำศพ ควรให้เจ้าภาพจุดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัยก่อน แล้วจึงเริ่มพิธีรดน้ำศพ
๙) เมื่อผู้มีเกียรติที่มาแสดงความเคารพศพด้วยการรดน้ำศพหมดแล้ว ถ้าได้รับพระราชทานน้ำอาบศพ ให้เชิญผู้อาวุโสที่อยู่ในที่นั้น เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รดน้ำศพพระราชทานซึ่งถือเป็นลำดับสุดท้ายของพิธีรดน้ำศพ เมื่อทำพิธีรดน้ำศพพระราชทานแล้วถือเป็นเสร็จพิธีรดน้ำศพไม่สามารถให้ผู้หนึ่งผู้ใดรดน้ำศพอีก
๑๐) ต่อจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับหน้าที่ดำเนินการนำศพลงหีบ เพื่อกระทำพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป
๑๑) เมื่อนำศพลงโลงหรือโกศแล้ว บางเจ้าภาพจะให้มีการทอดผ้าบังสุกุล (ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าไตรจีวรหรือสบงตามฐานะ) เพื่อให้พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล ซึ่งเรียกว่า บังสุกุลปากหีบหรือบังสุกุลปากโกศ (ซึ่งจะนิมนต์พระสงฆ์เพื่อการนี้เท่าใดก็ได้ไม่มีกำหนด แต่ถ้าเป็นพิธีของหลวงมักจะนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน ๑๐ รูป)
๑๒) เมื่อพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลเรียบร้อยแล้ว นิมนต์พระสงฆ์จำนวน ๔ รูป

สวดพระอภิธรรม ต่อจากพิธีบังสุกุลปากหีบ หรือปากโกศทันที โดยปฏิบัติดังนี้
(๑) เมื่อพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลปากหีบ หรือปากโกศ ลงจากอาสน์สงฆ์แล้ว
(๒) พิธีกรตั้งตู้พระธรรมเบื้องหน้าอาสนสงฆ์ของพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม
(๓) แต่งตั้งเครื่องนมัสการพระธรรม
(๔) นิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จำนวน ๔ รูป ขึ้นอาสนสงฆ์
(๕) เชิญเจ้าภาพหรือประธานพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระธรรม
(๖) พระสงฆ์ จำนวน ๔ รูป สวดพระอภิธรรม จำนวน ๑ จบ (ถ้าเจ้าภาพประสงค์จะให้สวดจนครบ ๔ จบ ก็ได้) ในกรณีสวด ๑ จบ เมื่อได้เวลาสวดพระอภิธรรมตามที่วัดกำหนดจะสวดต่ออีก ๓ จบ ก็ทำได้ หรือเจ้าภาพจะให้นิมนต์สวดตามเวลาของวัดก็ย่อมได้เช่นกัน

การจัดสถานที่ตั้งศพ
การจัดสถานที่ตั้งศพนั้น จะต้องประกอบด้วยสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับพิธีงานศพ ดังนี้
๑) สถานที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย ตั้งไว้ทางด้านศีรษะของศพ
๒) สถานที่ตั้งอาสน์สงฆ์สำหรับพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ตั้งไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชา (เว้นไว้แต่สถานที่บังคับไม่อาจจะตั้งอาสน์สงฆ์ไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาได้)
๓) สถานที่ตั้งศพ ให้ตั้งหันด้านศีรษะของศพไปทางโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป
๔) สถานที่ตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นิยมตั้งไว้เบื้องหน้าหีบหรือโกศศพ หรือหน้ารูปถ่ายของศพโดยการนำโต๊ะหมู่มาจัดตั้งให้เหมาะสมและสวยงาม
๕) สถานที่ตั้งรูปถ่าย นิยมตั้งไว้ทางด้านเท้าของผู้ตาย
๖) สถานที่ตั้งหรือการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ให้ศึกษาในพิธีงานอวมงคลตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว

การบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพประจำคืน
การจัดพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพประจำคืนนั้น นิยมเริ่มจัดพิธีสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันตั้งศพเป็นต้นไปทุกคืน จนครบสัตตมวารที่ ๑ คือ ครบ ๗ วัน แต่จะจัดให้มีการสวดพระอภิธรรม ๓ คืน หรือ ๕ คืน ก็ได้ ตามความสะดวกของผู้เป็นเจ้าภาพ

การจัดพิธีฌาปนกิจศพ
การจัดงานฌาปนกิจ มีการจัดเป็น ๒ กรณี คือ
๑) การจัดพิธีฌาปนกิจศพหลังจากมีการสวดพระอภิธรรมครบวันตามที่เจ้าภาพกำหนดแล้ว
๒) การจัดพิธีฌาปนกิจศพ โดยการนำศพที่บรรจุไว้และรอโอกาสที่จะฌาปนกิจ

การเก็บอัฐิ
ในพิธีการเก็บอัฐินิยมทำตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น จากวันฌาปนกิจศพเรียบร้อยแล้วสิ่งที่จะต้องเตรียมในพิธีเก็บอัฐิ

ที่มา : กรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม. คู่มือกาปฏิบัติศาสนพิธีเบื้องต้น. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๖.

 

ป้ายกำกับ: ,